Well-being ที่ดีของพนักงาน อีกหนึ่งประเด็นที่องค์กรควรให้ความสำคัญในยุคนี้

คำว่า Well-Being เป็นศัพท์อีกคำหนึ่งที่ในแวดวงการบริหารทรัพยากรบุคคลเริ่มใช้กันมาสักพักแล้ว แปลเป็นไทยอย่างไรนั้นยังไม่มีใครบัญญัติขึ้นมา ผมขอแปลง่ายๆ ว่า เป็นความสุข หรือความผาสุกในชีวิต หรือในการทำงานนะครับ แต่อย่างไรก็ดี ในบทความนี้ผมจะใช้ทับศัพท์ไปเลยนะครับ เพื่อความสะดวกในการอ่านและความเข้าใจ

หลายคนเมื่อพูดถึงคำว่า Well-Being ก็มักจะคิดถึงแค่เพียงว่าชีวิตมีความผาสุก มีความสุข และคิดแค่เพียงเรื่องของเงิน หรือไม่ก็สุขภาพ เพราะเป็นสองเรื่องที่พอจะวัดกันได้จริงๆ จังๆ แต่จากผลงานวิจัย และผู้เขียนหนังสือที่มีชื่อว่า Well-Being โดย Tom Rath และ Jim Harter ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ และได้ผลออกมาว่า มีปัจจัยในการสร้าง Well-Being อยู่ 5 ปัจจัย ถ้าเราต้องการชีวิตที่มี Well-Being ก็ต้องสร้างจาก 5 ปัจจัยนี้ มีอะไรบ้างลองมาดูกัน

  • Career Well-Being ก็คือ ความผาสุกทางด้านอาชีพการงาน ผู้วิจัยได้พบว่า Well-Being ทางด้านนี้ เป็นพื้นฐานสำคัญมากที่สุด ที่จะทำให้เกิด Well-Being ในด้านอื่นๆ ตามมา เพราะเป็นเรื่องที่คนเราต้องทำ และต้องอยู่กับมันทุกวัน ใครที่มีหน้าที่การงานที่ไม่ชอบ และทำงานด้วยความไม่ชอบ เรื่องอื่นๆ ก็จะไม่เกิดขึ้นเลย ดังนั้นการมี Career Well-Being ก็คือ การที่เราชอบในงานที่เราทำ และเราใช้มันเป็นอาชีพในการสร้างความก้าวหน้าให้กับชีวิตเราได้
  • Social Well-Being ปัจจัยที่สองก็คือ เรื่องของการมีสังคม มีความรัก มีเพื่อนพ้อง เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่มีผลต่อความรู้สึกเป็นสุขในชีวิต ใครที่ไม่มีความรัก ไม่มีเพื่อน คงจะอยู่ในสังคมได้ยาก
  • Financial Well-Being ปัจจัยที่ 3 ก็คือ เรื่องของสถานะทางการเงิน ก็คือมีเงินพอใช้พอจ่าย ตามสภาพความเป็นอยู่ของเราเอง ไม่ใช่มแต่หนี้สิน หรือไม่มีเงินเลย ก็ไม่มีความผาสุขในชีวิตอีกเช่นกัน เรื่องของเงินนี้ มักจะเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่มองว่า ถ้าชีวิตจะมีแต่ความผาสุกได้นั้น จะต้องมีเงินเยอะ ๆ แต่ผลการวิจัยออกมาเป็นอันดับ 3 ไม่ใช่อันดับ 1
  • Physical Well-Being ปัจจัยที่ 4 ก็คือ การมีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง ปัจจัยนี้เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ กล่าวคือ ถ้าเราไม่มีร่างกายที่แข็งแรง เราก็ไม่สามารถทำงานได้ และก็ไม่สามารถที่จะหาเงินได้เพียงพอกับการใช้จ่ายในชีวิต พูดถึงเรื่องสุขภาพร่างกาย กลับการเป็นปัจจัยที่คนเรามองข้ามไปหมดเลย ก็คือ ทุ่มเททำงานหามรุ่งหามค่ำ กินอาหารไม่ค่อยถูกลักษณะ แถมไม่ค่อยออกกำลังกายสักเท่าไหร่ ด้วยเหตุผลที่ว่างานเยอะ ไม่มีเวลาไปทำ แต่พอถึงเวลาเจ็บป่วยขึ้นมาจริงๆ ก็มักจะย้อนกลับมาคิดว่า “รู้งี้น่าจะรักษาสุขภาพให้ดีตั้งแต่ยังหนุ่ม”
  • Community Well-Being ปัจจัยสุดท้ายก็คือ เรื่องของสภาพแวดล้อมที่เราอยู่อาศัยว่ามีสภาพที่ดีหรือไม่ เช่น น้ำ อากาศ มลพิษต่างๆ ฯลฯ ปัจจัยเรื่องนี้เป็นปัจจัยที่คนส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยมองเท่าไหร่เวลาพูดถึงความผาสุก แต่จากผลการวิจัยแล้วพบว่า มีผลเยอะมาก ยิ่งสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ที่ไม่ดี ก็จะยิ่งทำให้ความสุข และความผาสุขของเราลดน้อยลงไปด้วย

ปัจจัยทั้ง 5 ตัวนี้จะต้องมีประกอบกันทุกตัว ชีวิตเราจึงจะมี Well-Being อย่างสมบูรณ์ แต่จะมีปัจจัยอะไรมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละคนด้วยว่า เขามีเป้าหมาย และวิถีชีวิตอย่างไรด้วย

ในการประเมินตัวท่านเองว่าชีวิตเรานั้นมี Well-Being แล้วหรือยัง ก็ให้พิจารณาจากปัจจัยแต่ละตัวก็ได้ครับ แล้วลองให้คะแนนง่ายๆ จาก 1-5 ก็ได้ 5 แปลว่ามีเยอะที่สุด 1 แปลว่าน้อยที่สุด แล้วลองดูว่าตัวไหนของเราน้อยที่สุด ตัวนั้นก็คือ ปัจจัยที่เราจะต้องไปหาวิธีการทำให้มันเกิดขึ้นในชีวิตของเรา เพื่อให้ Well-Being ในชีวิตของเราสมบูรณ์ที่สุดนั่นเองครับ ในความเห็นผมคิดว่า ไม่ควรจะมีปัจจัยไหนที่ต่ำกว่า 3 ลงไป ถ้ามีแสดงว่าชีวิตของเราก็ยังไม่ Well-Being จริงๆ

เมื่อเราลองประเมินชีวิตเราเองผ่าน 5 มุมมองข้างต้นไปแล้ว คราวนี้เราลองเอา 5 มุมมองของ Well-being ข้างต้นมาเชื่อมโยงกับระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลในองค์กรกันดูว่า เราจะเชื่อมโยงได้อย่างไรบ้าง

 

5 ปัจจัยทางด้าน Well-Being กับระบบบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์กร

งานวิจัยที่ผู้เขียนได้ทำไว้นั้น ได้ผลออกมาอย่างชัดเจนว่าถ้าองค์กรสามารถสร้าง Well-Being ทั้ง 5 ด้านให้กับพนักงานได้ พนักงานก็จะรู้สึกผูกพันต่อองค์กรมากขึ้น ลองมาดูกันครับว่า 5 ปัจจัยที่กล่าวมานั้น ถ้าเราจะเอามาผูกกับการทำงานของพนักงาน และระบบบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์กรได้อย่างไรบ้าง

 

  • Career Well-Being ปัจจัยแรก ก็คือ เรื่องของ Career มองได้ทั้งความรักความชอบในงานของพนักงาน ซึ่งแปลว่าองค์กรก็ต้องคัดเลือกพนักงานที่มีความชอบในงานที่ทำ และนอกจากนั้น ก็ยังต้องสามารถทำให้พนักงานเห็นถึงความเติบโตในสายอาชีพนั้นๆ ได้ด้วยว่า ถ้าทำงานนี้ในองค์กรไปนานๆ แล้วจะเติบโตไปทางไหนได้บ้าง และมีโอกาสสักแค่ไหนที่จะเติบโต รวมทั้งถ้าอยากจะเติบโต จะต้องทำอะไรบ้าง สิ่งเหล่านี้ถ้าองค์กรมีความชัดเจน พนักงานเองก็จะรู้สึกว่าทำงานที่นี่มีความมั่นคง และมีโอกาสเติบโตได้ ความทุ่มเทอยากสร้างผลงานก็จะเกิดขึ้น ระบบที่จะสามารถสร้าง Career Well-being ให้เกิดขึ้นในความรู้สึกของพนักงานได้ ก็คือ องค์กรต้องมีระบบ Career Path ที่ชัดเจน มีระบบการพัฒนาให้พนักงานสามาถเติบโตตามสายอาชีพของตนเองได้ ทำให้พนักงานสามารถมองอนาคตของตนเองได้อย่างชัดเจนว่า ถ้าทำงานกับองค์กรนี้ต่อไปเรื่อยๆ แล้ว ตนเองจะเติบโตไปได้อย่างไรบ้าง
  • Social Well-Being ปัจจัยที่สองก็คือเรื่องของสังคม เพื่อนพ้อง หัวหน้า องค์กรสามารถทำให้พนักงานรู้สึกถึงการมีสังคมที่ดีหรือไม่ มีเพื่อนร่วมงานที่ดี ทำงานกันเป็นทีม มีหัวหน้าที่ดี มีความเข้าใจลูกน้อง มีกิจกรรมร่วมกันสำหรับสร้างสังคม และทีมงานที่ดี สิ่งเหล่านี้จะทำให้พนักงานรู้สึกถึงความสุขใจ เพราะคนเราเป็นสัตว์สังคมอยู่แล้ว ดังนั้นย่อมต้องการเพื่อน ต้องการมีคนพูดคุย เห็นใจกัน ถ้าองคก์รสามารถสร้างสิ่งเหล่านี้ได้ พนักงานก็จะรู้สึกถึงความสุขในการทำงานที่นี่ การที่จะคิดลาออกก็จะต้องคิดแล้วคิดอีก เพราะเขาอาจจะไม่ได้เจอสังคมแบบนี้ในที่ทำงานอื่นก็เป็นได้ ดังนั้นระบบที่องค์กรควรจะมีเพื่อให้เกิด Social Wellbeing ที่ดีก็คือ การจัดกิจกรรมกลุ่มต่างๆ การสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงานร่วมกัน โดยเริ่มจากผู้นำองค์กรจะต้องเป็นคนที่แสดงพฤติกรรมเหล่านี้ให้เห็นก่อนคนอื่น การพัฒนาผู้บังคับบัญชาทุกระดับให้ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดี รวมทั้งเปิดโอกาสให้มีการพูดคุย ปรึกษาหารือกันระหว่างพนักงานกับหัวหน้า ตลอดจนการสร้างกลุ่มสังคมเพื่อนร่วมงานเพื่อไปช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสต่างๆ ก็จะได้ทั้งสังคมภายใน และยังได้ประโยชน์ต่อบุคคลภายนอกด้วย
  • Financial Well-Being ปัจจัยที่ 3 เป็นเรื่องเงินๆ ทองๆ องค์กรจะต้องมีระบบการบริหารค่าตอบแทนที่แข่งขันได้ กล่าวคือ ไม่มาก หรือไม่น้อยเกินไป ทำให้พนักงานรู้สึกว่าทำงานแล้วไม่ต้องไปกังวลเรื่องของค่าตอบแทน เพราะองค์กรจ่ายในระดับที่แข่งขันได้อยู่แล้ว นอกจากค่าตอบแทนแล้ว ก็ยังมีเรื่องของสวัสดิการต่างๆ ด้วย ถ้าพนักงานรู้สึกว่า ค่าตอบแทนและสวัสดิการของบริษัทอยู่ในเกณฑ์ที่แข่งขันได้ รวมทั้งระบบการให้รางวัลตอบแทนมีความเป็นธรรม เขาก็จะยินดีทุ่มเททำงานให้องค์กรมากขึ้น ดังนั้นการสร้าง Financial wellbeing ให้เกิดขึ้นในองค์กรได้ องค์กรต้องมีการวางระบบบริหารค่าตอบแทน โครงสร้างเงินเดือน ระบบค่าตอบแทนตามผลงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขึ้นเงินเดือน โบนัส หรือ incentive ต่างๆ ให้สอดคล้องกับผลงาน และมีความเป็นธรรมทั่วทั้งองค์กร อีกทั้งต้องมีระบบสวัสดิการที่สามารถช่วยเหลือพนักงานทางด้านการเงิน ในกรณีที่พนักงานเกิดมีปัญหาทางด้านนี้ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกู้ยืมเงินในกรณีต่างๆ อย่างน้อยก็ทำให้พนักงานรู้สึกถึงความมั่นคงทางด้านการเงินเวลาที่ได้ทำงานอยู่กับองค์กร
  • Physical Well-Being ปัจจัยที่ 4 ในเรื่องของสุขภาพกายและใจของพนักงานนั้น ในปัจจุบันถ้าจะประยุกต์แนวคิดนี้ไปใช้ในการสร้างความรู้สึกผูกพัน ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของการสร้าง Work-Life Balance ให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเวลาการทำงานที่มีความยืดหยุ่น การให้เวลากับพนักงานในการใช้ชีวิตส่วนตัวเพื่อพัฒนาสุขภาพกายและจิตใจ รวมทั้งเวลาสำหรับครอบครัว โดยสนับสนุนให้พนักงานสามารถทำงานและใช้ชีวิตส่วนตัวได้อย่างสมดุล ดังนั้นระบบสวัสดิการ และการทำงานแบบยืดหยุ่นจึงเกิดขึ้นในองค์กรที่ต้องการจะสร้าง Physical Wellbeing ให้กับพนักงาน สวัสดิการทางด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย fitness การพักผ่อนระหว่างการทำงาน กิจกรรมลดความเครียดจากการทำงาน การส่งเสริมสุขภาพกายสุขภาพใจให้แข็งแรง เป็นต้น
  • Community Well-Being ปัจจัยสุดท้ายก็คือ พนักงานรู้สึกว่าทำงานแล้วมีส่วนที่ทำให้สังคมรอบข้างที่ตนอยู่นั้นดีขึ้นไปด้วย ระบบที่เกี่ยวข้องมากที่สุดก็คือ เรื่องของ CSR ที่หลายๆ บริษัทปัจจุบันนี้ก็พยายามที่จะสร้างให้มีขึ้น โดยไปช่วยเหลือสังคมในแง่มุมต่างๆ และสนับสนุนให้พนักงานได้มีส่วนในการเข้าไปช่วยเหลือสังคมในด้านต่างๆ ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น บางบริษัทถ้าพนักงานจะไปเลี้ยงอาหารกลางวันคนชรา หรือเด็ก บริษัทจะอนุญาตให้ไปโดยที่ไม่ตัดค่าจ้าง และไม่ต้องเสียวันลาใดๆ เพราะถือว่าเป็นการทำเพื่อสังคม และบริษัทเองก็สนับสนุนให้ทำอย่างเต็มใจเช่นกัน

ในบางตำราก็จะมีการแบ่ง wellbeing ไว้ 4 ด้าน อย่างของ Tower Watson ที่มีมุมมองต่อคำว่า Wellbeing อยู่ 4 ด้านก็คือ

  • Physical Wellbeing
  • Emotional Wellbeing
  • Financial Wellbeing
  • Social Wellbeing

ซึ่งเราจะเห็นว่า ก็จะไม่แตกต่างกันสักเท่าไหร่สัก แสดงว่า ในเรื่องของ Employee Wellbeing นั้น ก็จะอยู่ในกรอบประมาณนี้ ที่องค์กรสามารถที่จะทำให้พนักงานของเรารู้สึกมีความพึงพอใจ และมีความสุขพอประมาณในการทำงานกับองค์กร

ดังนั้น องค์กรใดที่ริเริ่มที่จะวางระบบ Employee Wellbeing หรือให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากขึ้นอย่างจริงจัง ก็คงจะต้องพิจารณาจากเกณฑ์ข้างต้น เพื่อที่จะได้วางระบบของเราให้ครบถ้วนทุกแง่มุมของคำว่า Wellbeing นั่นเอง

 

Mental Wellbeing อีกหนึ่งเรื่องของ Wellbeing ที่องค์กรต้องให้ความสำคัญ

เวลาที่พูดถึงคำว่า Employee Well-being เรามักจะมองไปที่เรื่องทางกายภาพของพนักงานเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสวัสดิการด้านต่างๆ ที่ให้กับพนักงาน ค่ารักษาพยาบาล Fitness ฯลฯ ส่วนใหญ่เรามักจะลืม Well-being ในอีกมุมหนึ่งก็คือ Mental Well-being ซึ่งก็คือความรู้สึกที่ดีทางจิตใจของพนักงานที่มีต่อการทำงานกับองค์กร

นอกจากประเด็นของ wellbeing ที่ได้กล่าวไป 5 ข้อข้างต้นแล้ว ในยุคนี้การทำงานจะเห็นได้ว่า พนักงานเกิดความเครียด ความกดดันทั้งจากตัวงาน จากนาย จากสภาพแวดล้อมต่าง ๆ มากมาย จนทำให้บางคนถึงกับเกิดอาการ Burnout จากการทำงาน เลยทำให้องค์กรสมัยใหม่ให้ความสำคัญกับเรื่องของ Mental Wellbeing ของพนักงานมากขึ้น ก็คือ เรื่องของการดูแลสุขภาพจิตใจของพนักงานในเข้มแข็ง และมีความสุขในการทำงานได้อย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยที่มีผลต่อ Mental Well-being มีอะไรบ้าง อ้างอิงจากงานวิจัยชื่อ 2021 Employee Experience Trends Report โดยบริษัท Qualtrics

  • พนักงานจะต้องรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร รู้สึกว่าตนเองมีส่วนในความเป็นเจ้าของขององค์กร หรือของงานที่ตนเองทำ
  • เป็นตัวของตัวเองในการทำงานอย่างเต็มที่ พนักงานจะต้องรู้สึกเป็นตัวเองในการทำงานได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องเสแสร้งแกล้งทำ หรือ ไม่เป็นตัวเอง
  • รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าของทีมงานของตน มีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของทีม และทุกคนในทีมให้ความสำคัญต่อผลงาน และต่อคุณค่าของพนักงานคนนั้น
  • รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของทีม ไม่ถูกทีมงานทิ้งไว้ข้างหลัง หรือถูกตัดขาดจากการสื่อสารภายในทีม ทำให้เกิดความรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งของทีมงาน
  • ถูกปฏิบัติด้วยความให้เกียรติซึ่งกันและกัน เวลาที่พนักงานทำงานความรู้สึกว่าได้รับการยอมรับ และถูกปฏิบัติด้วยการให้เกียรติพนักงาน จะทำให้เขารู้สึกดีในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ไม่เกิดการกลั่นแกล้ง (Bully) กันในการทำงาน (ซึ่งในปัจจุบันนี้เหมือนจะเกิดมากขึ้น)

คำถามก็คือ แล้วความรู้สึกทั้ง 5 ประการข้างต้นนั้น มันจะเกิดขึ้นในความรู้สึกของพนักงานได้อย่างไร คำตอบก็คือ ต้องมาจากผู้บริหารระดับสูงขององค์กรก่อนเลย ผู้บริหารหรือผู้นำองค์กรจะต้องเป็นบุคคลที่มีพฤติกรรมที่สร้างความรู้สึกที่ดีให้กับพนักงานที่ทำงานด้วยได้

นอกจากผู้นำ ก็จะมีผู้จัดการสายงานที่จะต้องสร้างความรู้สึกที่ดีให้กับพนักงานในฝ่ายงานของตนเองอีกเช่นกัน

ดังนั้นเวลาที่องค์กรของเราต้องการที่จะวางแผนสร้าง Well-being ให้กับพนักงาน ต้องไม่ไปเน้นทางด้านกายภาพมากจนเกินไป จนลืม ความรู้สึกของพนักงานไป เพราะ Well-being ที่ดี จะต้องมีทั้ง Physical Well-being และ Mental Well-being นั่นเองครับ

 

ตัวอย่างสวัสดิการที่ส่งเสริม Wellbeing ของพนักงานในช่วงปี 2020-2021

จากงานสำรวจสวัสดิการที่ชื่อว่า คือ Health and wellbeing at work 2021 ของ CIPD ที่เพิ่งออกมาในเดือนเมษายน 2021 ที่ผ่านมา นอกจากประเด็นมาตรการทางด้านการบริหารจัดการพนักงานและการทำงานที่มีผลกระทบมาจาก Covid19 แล้ว ก็ยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งก็คือ การจัดสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับชีวิตและความเป็นอยู่ของพนักงาน (Well-Being) ว่าในปี 2020-2021 ที่โควิดกำลังระบาดนั้น องค์กต่างๆ ทั่วโลกเขาจัดสวัสดิการด้านนี้ให้กับพนักงานอย่างไรบ้าง

สวัสดิการด้านสุขภาพ (Health Promotion)

  • ตรวจวัดสายตาให้กับพนักงาน
  • การฉีดวัคซีน
  • การให้คำปรึกษาทางด้านโภชนาการ และการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง
  • การเป็นสมาชิกฟิตเนส
  • ให้ใช้ Program และเครื่องมือติดตามด้านสุขภาพ เช่น Fitbit หรือ fitness tracker ต่างๆ รวมถึงให้มีการแข่งขันกันดูแลสุขภาพของตนเองให้ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดและมีรางวัลให้พนักงานที่ทำได้ตามเป้าหมาย
  • เพิ่มรายการในการตรวจสุขภาพประจำปีของพนักงาน
  • จัดให้มีชั้นเรียน หรือการอบรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพการสุขภาพจิตให้กับพนักงานถี่มากขึ้น (เช่น ทุกไตรมาส หรือทุกเดือน)
  • ให้สวัสดิการในการพักผ่อนเพื่อสุขภาพ เช่น การปรึกษานักจิตวิทยา นักกายภาพบำบัด ฯลฯ หรือเข้าสปา นวดเท้า นวดผ่อนคลาย เป็นต้น
  • สวัสดิการสนับสนุนพนักงานเพื่อสุขภาพของพนักงานเอง (Employee Support)
  • ให้พนักงานสามารถติดต่อกับศูนย์สุขภาพได้โดยตรงเพื่อขอคำปรึกษา
  • จัดโปรแกรมช่วยเหลือพนักงาน โดยเน้นไปทางด้านสุขภาพ เช่น การใช้ชีวิต การพักผ่อน การโภชนาการ การเลิกบุหรี่ การเลิกเหล้า ฯลฯ
  • ให้เงินช่วยเหลือเพิ่มเติมในกรณีที่พนักงานต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และวงเงินในเรื่องนี้หมดลง

อีกส่วนหนึ่งที่รายงานสรุปมาก็คือ การที่บริษัทซื้อประกันทางด้านสุขภาพเพิ่มเติมขึ้นให้กับพนักงานในบริษัทของตนเอง ซี่งสวัสดิการนี้ไม่แตกต่างอะไรมากมายกับที่เคยให้ และก็จะคล้ายๆ กับสวัสดิการที่บริษัทในประเทศไทยมีจัดให้กับพนักงานของตนเอง เพียงแต่อาจจะเป็นการเพิ่มวงเงินคุ้มครอง หรือเพิ่มประเภทการคุ้มครองที่กว้างขึ้น เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงานในเรื่องของสุขภาพอนามัยให้ดีขึ้นกว่าเดิม

ในรายงานนี้ได้สรุปว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเยอะมากจากปี 2019 ที่ผ่านมา ในเรื่องของสวัสดิการพนักงาน ก็คือ การให้สิทธิพนักงานได้มีโอกาสในการขอคำปรึกษาจากแพทย์ นักจิตวิทยา หรือผู้ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ ได้มากขึ้น จากเดิมที่อาจจะมีการจำกัดจำนวนครั้งหรือ จำนวนงบประมาณ ก็มีการขยายจำนวนครั้งในการรับคำปรึกษามากขึ้นกว่าเดิม เพราะบริษัทเรียนรู้ว่าในช่วง Covid นี้ พนักงานอาจจะต้องประสบกับคำถามที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพกาย และสุขภาพจิตของตนเองมากขึ้นกว่าเดิม

ซึ่งก็แปลว่า บริษัทจัดงบประมาณทางด้านสวัสดิการเพื่อสุขภาพของพนักงานมากขึ้นกว่าช่วงก่อน covid นั่นเอง

หวังว่าบทความนี้จะพอเป็นไอเดียให้กับนักบริหารทรัพยากรบุคคล นำไปวางแผน จัดระบบการให้สวัสดิการด้าน wellbeing ขององค์กรของเราได้ไม่มากก็น้อยนะครับ

You may also like

การเกษียณอายุแบบยืดหยุ่น การใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ของพนักงานสูงอายุ

Executive Summary และผลการสำรวจสวัสดิการ ประจำปี 2567

ระบบค่าตอบแทนตามผลงานขององค์กร (Pay for Performance) ตอบแทนผลงานพนักงานจริง ๆ หรือ

มุมมอง และพฤติกรรมที่ยังต้องพัฒนาของผู้จัดการ ในเรื่องผลงานกับการให้รางวัล