ถึงเวลาหรือยังที่องค์กรจะต้องให้ความ สำคัญกับเรื่อง Total Reward กันอย่างจริงจังเสียที
ในการบริหารทรัพยากรบุคคล โดยเฉพาะในเรื่องของการบริหารค่าตอบแทน เราได้ยินคำว่า Total Reward กันมานานแล้ว แต่จะมีสักกี่องค์กรที่พิจารณาในมุมของ Total Reward กันจริงจัง เท่าที่เห็นก็จะเน้นไปที่เรื่องของค่าจ้างเงินเดือนมากกว่าเรื่องอื่น ๆ ส่วนเรื่องของสวัสดิการ ก็ให้กันไปตามกฎมาย เรื่องความก้าวหน้าในสายอาชีพ ก็มีบ้างไม่มีบ้าง แล้วแต่อารมณ์ของผู้บริหาร
ถึงเวลาแล้วที่ผู้นำองค์กร ผู้บริหารฝ่ายทรัพยากรบุคคล จะต้องตระหนักถึงคำว่า Total Reward กันมากขึ้นกว่าเดิม ไม่ใช่เน้นแค่เพียงคำว่า Compensation หรือค่าจ้างเงินเดือนเท่านั้น องค์กรยุคใหม่ ที่จะแข่งขันในการดึงดูด เก็บรักษาพนักงาน รวมทั้งสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานในการสร้างผลงานที่ดีอย่างต่อเนื่องได้นั้นจะต้องให้ความสำคัญกับ Total Reward มากขึ้นแล้ว
หลายคนก็เริ่มลืม ๆ กันไปบ้างแล้วว่า Total Reward นั้นมีองค์ประกอบอะไรบ้าง เรามาทบทวนกัน
- Compensation องค์ประกอบแรกก็คือ เรื่องของค่าจ้างเงินเดือนพนักงาน ซึ่งก็คือ เงินที่องค์การจ่ายให้กับพนักงาน เพื่อเป็นการตอบแทนการทำงานของพนักงาน ไม่ว่าจะเป็น เงินเดือนประจำ โบนัสตามผลงาน ค่าตอบแทนในรูปแบบต่าง ๆ ที่เป็นการตอบแทนการทำงานตามตำแหน่งหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นค่าตำแหน่ง ค่าวิชาชีพ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะต้องได้รับการออกแบบ และปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ โดยเฉพาะเรื่องของโครงสร้างเงินเดือนมูลฐานที่จะต้องสามารถแข่งขันได้กับตลาด และจ่ายให้พนักงานด้วยความเป็นธรรม
- Benefits องค์ประกอบที่สองก็คือ สวัสดิการพนักงาน ก็คือ กลุ่มสวัสดิการทั้งภาคบังคับจากกฎหมาย ซึ่งต้องบอกว่า ปัจจุบันถ้าองค์กรจัดสวัสดิการแค่เพียงภาคบังคับก็อาจจะไม่สามารถดึงดูด และเก็บรักษาพนักงานไว้ได้เพียงพอ องค์กรจะต้องพิจารณาถึงเรื่องของคุณภาพชีวิตของพนักงานให้รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพร่างกายของพนักงาน และถ้าสุขภาพจิตใจของพนักงานด้วย ดังนั้น การจัด และบริหารสวัสดิการสำหรับยุคอนาคตจึงมีความสำคัญมากในการบริหารทรัพยากรบุคคล แนวโน้มของการจัดสวัสดิการในยุคใหม่ ก็จะเน้นไปทางด้านสวัสดิการแบบยืดหยุ่นมากขึ้น ให้สิทธิพนักงานในการเลือกว่าจะใช้สวัสดิการอะไรบ้าง ไม่ใช้อะไรบ้าง ตามสิทธิและตามระบบของบริษัทที่จัดให้พนักงาน ซึ่งก็จะทำให้ตอบโจทย์ความต้องการของพนักงานได้มากขึ้นกว่าการที่ให้สิทธิพนักงานทุกคนได้รับสวัสดิการที่เหมือนกันทั้งหมด
- Career องค์กรประกอบที่สามของ Total Reward ก็คือ การพัฒนาความก้าวหน้าในสายอาชีพของพนักงานที่เข้ามาทำงานในองค์กรของเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ การฝึกอบรมพนักงาน แนวทางในการพัฒนาพนักงานในรูปแบบต่าง ๆ การ Upskills Reskills พนักงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้พนักงานมั่นใจได้ว่า เขาจะมีความรู้ ทักษะในการทำงานที่พร้อมจะทำงานในยุคอนาคตได้ อีกทั้งยังต้องมีระบบความก้าวหน้าในสายอาชีพ ที่เราเรียกว่า Career Path ที่ชัดเจน สายอาชีพไหนเติบโตได้อย่างไร มีเกณฑ์ในการเติบโตอย่างไร ต้องได้รับการพัฒนาอะไรบ้าง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ทวีความสำคัญมากขึ้นในการบริหารทรัพยากรบุคคลในยุคอนาคต นอกจาก Career Path ที่ชัดเจนแล้ว เรื่องของการวางแผนทดแทนตำแหน่ง หรือแผนสืบทอดตำแหน่ง หรือ Succession Plan ก็ต้องมีการจัดทำอย่างชัดเจนโปร่งใส และเปิดโอกาสให้พนักงานที่มีฝีมือสามารถที่จะเติบโตได้จริง
- Work-Life องค์กรประกอบที่สี่ ของ Total Reward ก็คือ เรื่องของการสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงาน และระบบการทำงานที่สร้างความสมดุลระหว่าง ชีวิตการทำงาน และชีวิตส่วนตัวของพนักงาน ในยุคอนาคต เรื่องของการทำงานแบบ ยืดหยุ่น Flexible Working นั้น ขาดไม่ได้แล้ว จะต้องมีการออกแบบวิธีการทำงานแบบยืดหยุ่นที่เหมาะสมกับสภาพการทำงานและกระบวนการทำงานขององค์กรเองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การยืดหยุ่นด้านเวลาทำงาน ด้านสถานที่ทำงาน และด้านวิธีการทำงาน จัดให้มีการบริหารจัดการเรื่อง Wellness ของพนักงานมากขึ้น เพื่อยกระดับการใช้ชีวิตของพนักงานให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการส่งเสริมเรื่องของสุขภาพ การออกกำลังกาย การรับประทานอาหาร รวมถึงการพักผ่อน การผ่อนคลาย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่องค์กรต้องให้ความสำคัญมากขึ้น
นี่คือองค์กรประกอบของ Total Reward ที่องค์กรต้องให้ความสำคัญ ถ้าเราต้องการที่จะดึงดูด เก็บรักษา และจูงใจคนเก่ง ๆ ในการทำงานกับองค์กร
ไม่ใช่แค่เพียงจ่ายค่าจ้างเงินเดือนสูงเพียงอย่างเดียว แต่เรื่องอื่น ไม่มีเลย ก็อาจจะไม่ดึงดูดคนเก่งได้มากพอ บางองค์กรเงินเดือนค่าตอบแทนอาจจะไม่ได้สูงนัก แต่พอแข่งขันกับตลาดได้ แต่จัดให้มีสวัสดิการที่สอดคล้องกับวัยพนักงาน มีการพัฒนาพนักงานอย่างต่อเนื่องและมีความก้าวหน้าในสายอาชีพที่ชัดเจน รวมทั้งมีการบริหารจัดการเรื่อง Work-Life ที่สมดุล แบบนี้จะสามารถดึงดูด และเก็บรักษาคนเก่ง ๆ ได้ดีกว่า แค่เพียงการจ่ายเงินเดือนสูงๆ
นี่คือสิ่งสำคัญที่ผู้บริหารระดับสูง และนักบริหารทรัพยากรบุคคลจะต้องสร้างให้เกิดขึ้นจริงให้ได้ ไม่ใช่แค่เพียงพูดลอย ๆ อีกต่อไป