Performance Management Series: ความสำคัญของ Feedback and Coaching
บทความ Performance Management Series ตอนที่แล้ว ได้เขียนเรื่องของกระบวนการบริหารผลงานในช่วงระหว่างปีหลังจากที่ได้วางแผนผลงานกันไปแล้ว ซึ่งกือ การทบทวนผลงาน และการ Feedback and Coaching ระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องของตนเอง และประเด็นสำคัญก็คือ ในการที่จะทำให้ระบบบริหารผลงานประสบผลสำเร็จได้นั้น กระบวนการนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากเลยทีเดียว
แต่ปัญหาก็คือ หลายๆ บริษัทที่ไม่สามารถทำระบบบริหารผลงานได้สำเร็จนั้นมีสาเหตุหลักก็คือ ไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมในการทบทวนผลงาน และการให้ Feedback ระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องได้ ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะอะไรกันแน่ที่ทำให้บริษัทไทย ๆ ไม่สามารถทำเรื่องนี้ได้ หรือถ้าจะทำได้ ก็ไม่ง่ายนัก
สิ่งที่พบบ่อยมากในบริษัทที่พยายามจะวางระบบบริหารผลงาน ก็คือการที่หัวหน้างานไม่ค่อยอยากจะให้ Feedback ลูกน้องของตน เท่าที่สอบถามดู ก็เหมือนกับว่าจะไม่ค่อยกล้าบอกลูกน้องเรื่องของผลงานสักเท่าไรนัก เพราะด้วยความเกรงใจ และไม่อยากให้ลูกน้องรู้สึกไม่ดี ถ้าจะต้องบอกเรื่องที่ไม่ดี หรือเรื่องที่ต้องปรับปรุง
ด้วยเหตุผลนี้ก็เลยทำให้บริษัทที่จะวางระบบบริหารผลงานนั้นจะต้องทำการให้ความรู้แก่ทั้งหัวหน้า และลูกน้องว่าในระบบนี้จะมีเรื่องของการให้ Feedback และให้เห็นความสำคัญของการให้ Feedback กันอย่างจริงๆ จังๆ และจะต้องมีการเริ่มทดลองที่ให้หัวหน้ากับลูกน้องมานั่งคุยกันเรื่องผลงาน ทั้งในแง่ดี และแง่ที่ต้องปรับปรุงของผลงาน ทั้งนี้ ทั้งลูกน้องและหัวหน้าจะต้องมองไปที่จุดเดียวกันก็คือ เพื่อการพัฒนาผลงานครับ ไม่ใช่เพื่อความสะใจดั่งที่หัวหน้างานหลายๆ คนเคยทำ
เรื่องของการให้ Feedback นั้น จะว่าง่าย มันก็ง่าย แต่จะว่ายากมันก็ยากนะครับ มันอยู่ที่ความรู้สึกของคนให้ และคนรับ หรืออาจจะเป็นด้วยวัฒนธรรมแบบไทยๆ ที่มีความเกรงใจกันค่อนข้างจะมาก ก็เลยทำให้หัวหน้างานไม่ค่อยกล้าที่จะบอกลูกน้องของตนในเรื่องของผลงานที่ควรจะปรับปรุงให้ดีขึ้น เพราะด้วยความรู้สึกว่า กลัวลูกน้องเสียใจ และเกรงใจลูกน้องเพราะทำงานกันมาก็ตั้งนาน ก็ไม่อยากจะไปบอกเขาในเรื่องที่ไม่ดี
แต่ถ้าเราคิดแบบนี้ผมคิดว่า ระบบนี้มันก็จะไม่ประสบความสำเร็จได้เลย เพราะระบบบริหารผลงานนั้น เน้นไปที่การพัฒนาผลงานพนักงานให้ดีขึ้น ดังนั้น ผลงานพนักงานจะดีขึ้นได้นั้น ก็ต้องมีการหมั่นพูดคุย และคอยแนะนำเรื่องผลงาน ต้องหมั่นคอยให้ผลสะท้อนกลับทางด้านผลงาน และพฤติกรรมผลงานแก่พนักงาน เพื่อให้เขาทราบจะได้พัฒนาตนเองเพื่อให้ผลงานดีขึ้นได้
ดังนั้นถ้าจะให้ระบบการให้ Feedback ประสบความสำเร็จได้อย่างดี สิ่งที่จะต้องทำก็คือ การเปลี่ยนมุมมองของหัวหน้าและลูกน้องให้เน้นไปที่การพัฒนาผลงานให้ดีขึ้น คุยกันเพื่อพัฒนาผลงาน ให้คำแนะนำก็เพื่อพัฒนาผลงาน ติก็เพื่อพัฒนาผลงาน โดยทั้งหัวหน้าและลูกน้องจะต้องเชื่อมั่นกัน และยินดีและพร้อมใจกันสร้างระบบนี้ขึ้นมาเพื่อให้ผลงานในภาพรวมของบริษัทได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
และเมื่อถึงเวลานั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ ลูกน้องของท่านอาจจะเดินเข้ามาหา และถามว่า “เมื่อไรจะให้ Feedback ผมซะทีล่ะครับ”