Performance Management Series: การทบทวนผลงาน การ Feedback and Coaching

หลังจากที่ได้เขียนในเรื่องของการวางแผนผลงานไปหลายตอน ผมคิดว่าทุกท่านน่าจะพอเห็นภาพของแนวทางในการวางแผนและกำหนดตัวชี้วัดผลงาน รวมทั้งแนวคิดในเรื่องของการบริหารผลงานมากขึ้นนะครับ ถ้ายังจำกันได้ถึงกระบวนการในการบริหารผลงาน 3 ขั้นตอน ก็คือ (1) การวางแผนผลงาน (2) การทบทวนผลงาน และ (3) การประเมินผลงาน ผมได้จบในเรื่องของแนวคิดและแนวทางในการวางแผนผลงานกันไปแล้วนะครับ วันนี้เราจะมาต่อเรื่องของกระบวนการในขั้นที่สองของการบริหารผลงาน ก็คือ การทบทวนผลงานระหว่างปีครับ

หลังจากที่หัวหน้ากับลูกน้องวางแผนผลงานร่วมกันแล้ว และบันทึกลงในแบบฟอร์ม รวมทั้งลงนามร่วมกันแล้วว่าในปีนี้จะต้องสร้างผลงานอะไรบ้าง สิ่งที่จะต้องทำต่อไปก็คือ เรื่องของการบริหารลูกน้องของตนเองให้สร้างผลงานตามที่วางแผนกันไว้ตั้งแต่ต้นปี ให้ออกมาเป็นผลสำเร็จให้ได้

สิ่งที่จะต้องทำก็คือ การกำหนดแผนการดำเนินงานร่วมกันตั้งแต่ต้นว่า ตัวชี้วัดผลงานในแต่ละตัวนั้นจะต้องมีแผนงานอะไรบ้างมารองรับ และแผนแต่ละแผนจะต้องแล้วเสร็จเมื่อไร มีจุดตรวจสอบอะไรบ้าง จากนั้นในช่วงระหว่างปี หัวหน้าและลูกน้องจะต้องมีการพูดคุยกันในเรื่องของผลงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตาม และคอยพัฒนาปรับปรุงแก้ไข รวมทั้งจูงใจ เพื่อให้พนักงานสามารถสร้างผลงานได้ตามที่กำหนดไว้

ดังนั้นในช่วงของการทบทวนผลงานนี้เอง ที่บรรดาหัวหน้างานและผู้จัดการทุกระดับ จะต้องพัฒนาทักษะสามประการให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งก็คือ

  • ทักษะในการให้ Feedback
  • ทักษะในการสอนงาน (Coaching)
  • ทักษะในการให้คำปรึกษา (Counseling)

กล่าวคือผลงานของพนักงานในระหว่างปีนั้น หัวหน้างานจะต้องคอยให้ feedback กับลูกน้องของตนเอง ว่าผลงานที่ผ่านมานั้นเป็นอย่างไร มีความคืบหน้า หรือติดปัญหาอะไรบ้าง อะไรคือจุดดี อะไรคือสิ่งที่ต้องปรับปรุงเพื่อให้ผลงานดีขึ้น

ถ้าพนักงานไม่มีทักษะมากพอในการทำงาน หัวหน้างานก็ต้องรับผิดชอบในการสอนงาน Coaching เพื่อให้ลูกน้องของตนเองมีทักษะ และมีความสามารถเพียงพอในการสร้างผลงานตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

และถ้าลูกน้องของตนเกิดความรู้สึกท้อแท้เหนื่อยหน่าย หรือมีปัญหาหนักใจ ในเรื่องของการทำงาน การสร้างผลงาน หัวหน้างานก็จะต้องให้คำปรึกษา (Counseling) แก่พนักงานของตน เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจในการสร้างผลงานให้กับพนักงาน

แต่ในทางปฏิบัตินั้น บริษัทที่นำเอาระบบบริหารผลงานมาใช้นั้น มักจะเน้นการวางแผนผลงาน และการกำหนดตัวชี้วัดผลงาน โดยไม่สนใจกระบวนการทบทวนผลงานเลย จริงๆ แล้วคำว่าบริหารผลงานนั้น ก็บอกความหมายอยู่ในตัวเองแล้วว่า หัวหน้าจะต้องทำหน้าที่ในการบริหารผลงานของลูกน้องให้ออกมาตามเป้าหมายให้ได้ ก็โดยการติดตาม ทบทวน และคอยให้ Feedback ผลงานแก่พนักงานที่ตนดูแลอยู่

ระบบบริหารผลงานส่วนใหญ่ที่บริษัททำขึ้นนั้น ส่วนใหญ่จะเดินต่อไม่ได้ก็เพราะไม่สามารถสร้างขั้นตอนการทบทวนผลงานให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ทำไปทำมา หัวหน้ากับลูกน้องก็ไม่มีการพูดคุยกันเรื่องผลงาน ไม่มีการให้ Feedback กัน ไม่มีการสอนงานซึ่งกันและกัน พอถึงเวลาก็มาประเมินผลงานกันตามปกติ สุดท้ายก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับระบบที่อุตสาห์เหนื่อยสร้างขึ้นมาครับ

You may also like

การเกษียณอายุแบบยืดหยุ่น การใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ของพนักงานสูงอายุ

Executive Summary และผลการสำรวจสวัสดิการ ประจำปี 2567

ระบบค่าตอบแทนตามผลงานขององค์กร (Pay for Performance) ตอบแทนผลงานพนักงานจริง ๆ หรือ

มุมมอง และพฤติกรรมที่ยังต้องพัฒนาของผู้จัดการ ในเรื่องผลงานกับการให้รางวัล