3 เสาหลักของ Total Reward สำหรับพนักงาน ที่องค์กรต้องให้ความสำคัญ
เรื่องของค่าตอบแทนรวม หรือ Total Reward นั้น ปัจจุบันเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากทั้งในมุมมองของพนักงานที่เข้ามาทำงานกับองค์กร และในมุมขององค์กรที่ต้องการพนักงานที่มีฝีมือเข้ามาทำงานด้วย ทางด้านพนักงานเอง ก็ต้องการค่าตอบแทนที่เป็นธรรม แข่งขันได้กับตลาด ทางด้านนายจ้างเองต้องการระบบค่าตอบแทนที่ดึงดูดพนักงานเก่งๆ เข้ามาทำงาน และสามารถที่จะสร้างแรงจูงใจในการสร้างผลงานให้กับองค์กรได้อย่างต่อเนื่อง
ดังนั้นระบบค่าตอบแทนรวมที่ดี จึงถือว่าเป็นระบบผลต่างตอบแทนที่นายจ้างและพนักงานต่างต้องมาแลกเปลี่ยนกัน ถ้าทั้งสองฝ่ายรู้สึกว่าระบบค่าตอบแทนทำให้ตนเองได้ตามสิ่งที่ตนเองคาดหวัง ก็จะสามารถทำงานด้วยกันได้อย่างดี แต่ถ้ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าไม่ได้อย่างที่ต้องการ ก็จะทำให้การทำงานเกิดปัญหาขึ้นได้
โดยทั่วไปเวลาที่เราพูดถึงค่าตอบแทน เราก็มักจะมองไปที่เรื่องของค่าจ้างเงินเดือน และสวัสดิการ เท่านั้น แต่ในยุคปัจจุบัน หลักของการบริหารค่าตอบแทนรวม (Total Reward) นั้น จะกินความกว้างกว่าแค่เรื่องของเงินเดือนและสวัสดิการ
มี 3 เสาหลักที่เราจะต้องให้ความสำคัญ ในกรณีที่พูดถึงคำว่าค่าตอบแทนรวม ก็คือ
- เสาหลักที่ 1 ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม (Pay Equity) เสาหลักนี้ จะมองไปในเรื่องของการออกแบบระบบค่าตอบแทนที่เป็นธรรม เป็นธรรมในที่นี้ก็คือ กำหนดค่าตอบแทนมากน้อยตามหน้าที่และความรับผิดชอบของตำแหน่งงานในองค์กร และมีระบบการให้รางวัล ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นเงินเดือน และโบนัส รวมถึงระบบค่าตอบแทนจูงใจที่ต้องสะท้อนผลงานของพนักงานได้อย่างตรงไปตรงมา เป็นธรรม และโปร่งใส อธิบายถึงที่มาที่ไปของค่าจ้างเงินเดือนได้อย่างชัดเจน
- เสาหลักที่ 2 ระบบสวัสดิการที่เป็นธรรม (Benefits Equity) เสาหลักที่สองนี้ ก็คือ ระบบสวัสดิการพนักงานในองค์กร ก็ต้องเป็นระบบที่มีความเป็นธรรมในการออกแบบให้กับพนักงาน อีกทั้งยังต้องตอบโจทย์ในเรื่องของการใช้ชีวิตของพนักงานได้ บางแห่งก็มีการออกแบบสวัสดิการแบบยืดหยุ่นเพื่อให้พนักงานได้เลือกสวัสดิการที่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตของตนเองได้ ในการออกแบบระบบสวัสดิการที่ดีนั้น จะต้องพิจารณาสวัสดิการต่างๆ ที่ตลาดเขาให้กันด้วยส่วนหนึ่ง แต่เราอาจจะนำมาปรับเปลี่ยนรูปแบบเพื่อให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมขององค์กรของเรา เพียงแต่พนักงานต้องรู้สึกว่าเขาได้รับประโยชน์จากสวัสดิการของบริษัท และบริษัทเองก็เต็มใจที่จะส่งเสริมสภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของพนักงานอย่างเต็มที่เช่นกัน
- เสาหลักที่ 3 การเติบโตในองค์กร (Career Equity) เสาหลักที่สามนี้ ถือว่าเป็นอีกเสาหลักที่สำคัญ ซึ่งหลายองค์กรมักจะมองข้ามไป ก็คือ เรื่องของการเติบโต และความก้าวหน้าในการทำงานของพนักงาน ซึ่งกินความรวมตั้งแต่ ระบบการพัฒนาพนักงาน การ Reskills Upskills ระบบการเรียนรู้ของพนักงานในองค์กร ระบบการเติบโตตามสายอาชีพของพนักงาน รวมถึงเส้นทางการเติบโตในด้านต่างๆ ของพนักงาน การเลื่อนระดับงาน การเลื่อนตำแหน่ง
ดังนั้นถ้าเราต้องการที่จะออกแบบระบบค่าตอบแทนรวม หรือ Total Reward อย่างจริงจัง ก็ต้องไม่ลืมมองให้ครบทั้งสามเสาหลักข้างต้นครับ