ปัจจัย 5 ประการที่ทำให้ ระบบบริหารผลงานไม่ประสบผลสำเร็จ

เรื่องของการบริหารผลงาน และการประเมินผลงานนั้น มักจะเป็นเรื่องที่มีปัญหากันมาตลอดในบริษัทต่างๆ เวลาที่คุยกันเรื่องนี้ มักจะคุยกันไม่จบ สามารถที่จะขุดคุ้ยเอาสาเหตุ และปัญหาที่เกิดขึ้นในการประเมินผลงานออกมาได้มากมาย ไม่มีที่สิ้นสุดกันเลย

องค์กรที่มีปัญหาเรื่องของการนำระบบบริหารผลงานมาใช้แล้วไม่สำเร็จ ปัญหาอยู่ที่ไหนบ้าง

  • ผู้บริหารระดับสูงไม่ให้ความสำคัญในเรื่องการบริหารผลงาน ผมคิดว่านี่คือปัจจัยแรกสุดที่ทำให้ระบบบริหารผลงานที่เราพยายามจะสร้างมันขึ้นมาในองค์กร แล้วไม่สำเร็จสักที ก็เนื่องจากผู้บริหารระดับสูงไม่เอาด้วย หรือบางครั้งก็ไม่สนใจที่จะทำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวิสัยทัศน์ พันธกิจต่างๆ ก็กำหนดแบบเล่นๆ เพื่อให้มีตามแฟชั่น มีแล้วก็ไม่เคยสื่อวิสัยทัศน์ต่างๆ นี้ให้กับพนักงานได้ทราบเลย ก็เลยทำให้พนักงานไม่มีโอกาสได้ทราบว่าเป้าหมายขององค์กรของเรานั้นเป็นอย่างไร จะไปทางไหน
  • หัวหน้า และผู้จัดการไม่สามารถที่จะสื่อสารเป้าหมายให้ลูกน้องได้เข้าใจ ปัญหาถัดมาที่ต่อเนื่องจากปัญหาแรก ก็คือ ตัวหัวหน้า และผู้จัดการ ไม่สามารถที่จะอธิบายเป้าหมายในการทำงานให้พนักงานทราบ อีกทั้งบางคนไม่เคยที่จะบอกพนักงานเลยว่าเป้าหมายที่จะต้องทำให้สำเร็จนั้นมีอะไรบ้าง มักจะเก็บเงียบไว้คนเดียว แม้ว่าในระบบบริหารผลงานนั้นได้ระบุไว้ว่า สิ่งแรกที่จะต้องทำให้ได้ก็คือ การวางแผนผลงานระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง แต่สุดท้ายก็ไม่มีหัวหน้าคนไหนมีการวางแผนผลงานกันอย่างจริงจังเลยสักคน แต่ละปีก็ทำงานกันไปแบบเดิมๆ
  • ขาดการสื่อความเรื่องผลงาน ถ้าใครได้ศึกษาเรื่องของระบบบริหารผลงานอย่างจริงจังแล้วจะพบว่า เรื่องของการบริหารผลงานถ้าจะทำให้สำเร็จได้นั้น เรื่องเดียวที่จะต้องทำให้ได้ก็คือ เรื่องของการสื่อความอย่างต่อเนื่องในเรื่องของผลงานพนักงาน ถ้าเราสร้างระบบบริหารผลงาน แต่ไม่กระตุ้นให้มีการสื่อความทางด้านผลงานอย่างต่อเนื่อง ระบบบริหารผลงานก็ใช้ไม่ได้แน่นอนครับ เนื่องจากการบริหารผลงานแปลว่าหัวหน้าจะต้องทำให้ผลงานลูกน้องได้ตามเป้าหมาย ก็โดยการคอยบอกว่าขณะนี้ผลงานของลูกน้องเราเป็นอย่างไร มีอะไรดี อะไรไม่ดี อะไรที่ต้องปรับปรุงบ้าง จากนั้นก็มาวางแผนพัฒนาและปรับปรุงงานของพนักงานให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • ขาดการพัฒนาผลงานพนักงาน องค์กรที่มีระบบบริหารผลงานที่ดี และสำเร็จนั้น จะต้องมีการวางแผนการพัฒนาผลงานพนักงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง หลังจากที่หัวหน้ารู้ว่าอะไรที่ลูกน้องทำไม่ดี และต้องแก้ไขปรับปรุงแล้วนั้น สิ่งถัดมาที่จะต้องทำต่อก็คือ เราต้องวางแผนในการพัฒนาลูกน้องของเราคนนั้นให้ได้รับการพัฒนาและสามารถทำงานได้ตามเป้าหมายที่เรากำหนดไว้ หลายองค์กรที่ระบบบริหารผลงานทำไม่สำเร็จก็เพราะ มีแต่การวิพากษ์วิจารณ์ผลงานพนักงานกันไป แต่ไม่มีการบอกว่าสิ่งที่วิจารณ์นั้นจะทำอย่างไรให้ดีขึ้น และจะมีแนวทางในการพัฒนาได้อย่างไรบ้าง ผลสุดท้ายก็มีแต่เสียงบ่นของหัวหน้าว่าลูกน้องผลงานไม่ดี แต่ไม่มีแผนในการปรับปรุงเลย
  • ขาดระบบการให้รางวัลที่สอดคล้องกับผลงาน เรื่องของระบบบริหารผลงานนั้น ถ้าจะทำให้สำเร็จได้จะต้องเอามาเชื่อมโยงกับระบบการให้รางวัลด้วย บริษัทที่ทำระบบบริหารผลงานไม่สำเร็จก็คือ ไม่สามารถที่จะเชื่อมระบบการให้รางวัลกับผลงานพนักงานได้ อาทิ ผลงานที่แตกต่างกัน แต่กลับให้รางวัลผลงานไม่แตกต่างกัน เช่น คนที่สามารถทำผลงานได้ดีเยี่ยม กลับได้รับรางวัลผลงานไม่ต่างกับคนที่ทำผลงานได้แค่พอใช้ เป็นต้น แบบนี้ก็จะทำให้คนที่ทำผลงานดีไม่อยากทำผลงานอีกต่อไป จากนั้นระบบบริหารผลงานก็จะไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ และพนักงานก็จะไม่สนใจอีกต่อไปครับ

ถ้าองค์กรของท่านผู้อ่านกำลังวางระบบบริหารผลงานอยู่ ก็คงต้องระวัง 5 ปัจจัยข้างต้นให้ดี ไม่ควรจะให้เกิดขึ้น สิ่งที่สำคัญของระบบบริหารผลงานก็คือ หัวหน้างาน และผู้จัดการทุกระดับจะต้องมีความเข้าใจ และนำเอาแนวทางในการบริหารผลงานไปปฏิบัติจริงๆ ไม่ใช่เป็นแค่เพียงระบบที่วางไว้ แต่ไม่มีใครเอาไปปฏิบัติจริง

ดังนั้นช่วงต้นๆ ของการวางระบบบริหารผลงาน ผมมักจะแนะนำให้เอาเรื่องของการบริหารผลงานพนักงานใส่เข้าไปเป็นปัจจัยหนึ่งในการประเมินผลงานพนักงานระดับบังคับบัญชาทุกคน ก็คือ ให้มีการประเมินว่าหัวหน้าคนไหนที่บริหารผลงานลูกน้องได้ตามระบบ ผลงานในข้อนี้ก็จะดี แต่ถ้าใครไม่ทำตามระบบนี้ ผลงานในข้อนี้ก็จะไม่ดีไปด้วย ก็พอจะช่วยทำให้เกิดความตื่นตัว และทำตามระบบมากขึ้น จนถึงจุดที่ระบบเข้าที่เข้าทางแล้ว ก็ค่อยเอาออกจากการประเมินผลงานหัวหน้างานก็ได้ครับ

การบริหารผลงานเป็นระบบที่ดี แต่จะสำเร็จหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับหัวหน้างานทุกระดับในองค์กร ไม่ใช่อยู่ที่ตัวระบบเลยครับ ไม่อยากให้เกิดกรณีที่ว่า มีระบบวางไว้อย่างดี แต่ไม่มีใครเอาไปใช้ ซึ่งจริงๆ ก็คือ ไม่มีระบบนั่นเอง

You may also like

การเกษียณอายุแบบยืดหยุ่น การใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ของพนักงานสูงอายุ

Executive Summary และผลการสำรวจสวัสดิการ ประจำปี 2567

ระบบค่าตอบแทนตามผลงานขององค์กร (Pay for Performance) ตอบแทนผลงานพนักงานจริง ๆ หรือ

มุมมอง และพฤติกรรมที่ยังต้องพัฒนาของผู้จัดการ ในเรื่องผลงานกับการให้รางวัล