มุมมองของผู้บริหาร มีผลต่อการบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์กร
ถ้าถามว่าทรัพยากรบุคคลยังคงมีความสำคัญต่อธุรกิจหรือไม่ ยังคงเป็นทรัพยากรที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจในระยะยาวได้หรือไม่ ท่านผู้อ่านจะตอบว่าอย่างไรครับ
คำตอบที่ได้ก็ยังคงคล้ายๆ เดิม ก็คือ ทรัพยากรที่มีคุณค่ายังคงเป็นทรัพยากรบุคคล เพียงแต่ความคาดหวังต่อทรัพยากรบุคคลขององค์กรนั้น จะถูกคาดหวังสูงมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี และความต้องการของลูกค้า เลยทำให้ต้องการคนที่มีคุณภาพเข้ามาสร้างผลงานในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน
อย่างไรก็ดีนโยบายในการบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์กรนั้น จะเป็นอย่างไร ก็ยังคงขึ้นอยู่กับมุมมอง และทิศทางของผู้บริหารระดับสูงขององค์กรอยู่เช่นเคย เท่าที่เคยสัมผัสมา ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรจะมีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ที่มีมุมมองในการทำงานที่แตกต่างกันออกไป
-
มุมมองความสำเร็จในระยะสั้น ผู้บริหารกลุ่มแรก จะเป็นกลุ่มผู้บริหารที่เน้นไปที่ความสำเร็จในระยะสั้นๆ ก็คือประมาณสัก 3-5 ปีเป็นหลัก ซึ่งก็จะอยู่ในช่วงที่ผู้บริหารคนนั้น ดำรงตำแหน่งอยู่ สิ่งที่ผู้บริหารกลุ่มนี้คิดก็คือ จะทำอย่างไรให้องค์กรมีผลงานที่ดีในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งอยู่ เพื่อที่จะได้ทำให้คนอื่นเห็นว่า เขาเป็นผู้บริหารที่เก่ง และพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จในยุคที่เขาดำรงตำแหน่ง
เมื่อผู้บริหารคิดแบบนี้ แนวทางในการบริหารที่ออกมาก็จะเน้นไปที่ความสำเร็จในระยะที่เขาดำรงตำแหน่งอยู่เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นสินค้าที่ออกมา ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย การตลาดแบบเร็วๆ แผนธุรกิจที่ได้ ก็จะออกมาในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งเท่านั้น ระยะเวลาที่ไกลเกินกว่านั้น เขาก็จะตอบว่า ไม่ใช่หน้าที่ผมแล้ว เป็นหน้าที่ของผู้บริหารชุดถัดไป
แต่ความสำเร็จในระยะสั้นๆ แบบนี้ มันเป็นความสำเร็จที่ฉาบฉวย ดังนั้น แผนงานระยะยาวที่ส่งผลต่อความสำเร็จขององค์กรในระยะยาวๆ ก็จะไม่เกิดขึ้นเลย เช่น โครงการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ที่ใช้ระยะเวลานาน โครงการวางพื้นฐานในการพัฒนาคน ซึ่งกว่าจะพัฒนาได้สำเร็จมันก็ต้องอาศัยเวลา ซึ่งผู้บริหารกลุ่มนี้ก็จะมองว่า กว่าโครงการนี้จะสำเร็จ มันก็พ้นช่วงเวลาที่เขาดำรงตำแหน่งไปแล้ว แบบนี้ความดีความชอบก็จะไปตกกับผู้บริหารชุดถัดไป ดังนั้นเขาก็เลยไม่คิดจะทำอะไรแบบบยาวๆ เลย
-
มุมมองความสำเร็จในระยะยาว ผู้บริหารกลุ่มนี้ ไม่มองความสำเร็จในระยะสั้นๆ เท่านั้น แต่จะมองไปไกลๆ ว่า อนาคตขององค์กรจะต้องทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ดังนั้น ผู้บริหารกลุ่มนี้ จะคิดอะไร ทำอะไร ก็จะมองถึงความสำเร็จในระยะยาว เป็นมุมมองที่ไม่มีช่วงเวลาว่าเป็นของใคร แต่เป็นของบริษัทหรือขององค์กรในภาพรวมมากกว่า เขาจะรู้สึกว่า เขาเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้องค์กรนี้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ในอนาคต แม้ว่าอาจจะไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาที่เขาดำรงตำแหน่งผู้บริหารแล้วก็ตาม
ถ้าผู้บริหารขององค์กรมีมุมมองแบบนี้ นโยบายและการบริหารจัดการ ก็จะออกมาในแนวทางที่เน้นเรื่องของการพัฒนาเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของงานวิจัย การพัฒนาทรัพยากรบุคคล การวางรากฐานในการบริหารจัดการขององค์กร การสร้างวัฒนธรรมองค์กร การสร้างค่านิยมให้เกิดขึ้นจริงในองค์กรแบบฝังลงไปในชีวิตประจำวันในการทำงานของพนักงาน
คำถามที่ตามมาก็คือ ผู้บริหารกลุ่มไหนที่เน้นการวางแผนและการวางระบบบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างจริงจัง คำตอบก็ไม่น่าจะยากใช่มั้ยครับ ก็คือ กลุ่มที่สองนั่นเอง
ผลที่ออกมาก็คือ นโยบายการพัฒนาคน ไม่ว่าจะต้องลงทุน หรือต้องใช้เวลามากแค่ไหน แต่ถ้าเป็นโครงการที่มองเห็นความสำเร็จในอนาคต ผู้บริหารกลุ่มที่สองก็จะตัดสินใจทำแน่นอน ตรงข้ามกับผู้บริหารกลุ่มแรกที่อาจจะมองว่า โครงการนี้ใช้เงินเยอะมาก กว่าจะเห็นผลก็อีกนาน และมันยังทำให้ต้นทุนในช่วงเวลาที่เขาบริหารงานนั้นสูงขึ้นอีกด้วย ซึ่งจะทำให้กำไรลดน้อยลงไปอีก ดังนั้น เขาก็จะตัดสินใจไม่พัฒนาคนตามแผนงานที่วางไว้
ถามว่าแบบไหนถูกหรือผิด ผมคิดว่าไม่มีถูกผิดหรอกครับ อยู่ที่ว่า องค์กรของเรามุ่งเน้นในเรื่องอะไรมากกว่า บางองค์กรเกิดขึ้นมาเพื่อต้องการความสำเร็จในระยะสั้นๆ การที่ผู้บริหารจะมองอย่างที่ว่ามา มันก็ไม่ได้ผิดอะไร
แต่ถ้าองค์กรที่มุ่งเน้นความสำเร็จในระยะยาว แต่ได้ผู้บริหารที่มองความสำเร็จในระยะสั้นๆ แบบนี้ ผมคิดว่า มันก็คงไม่ถูกต้องนัก เพราะสุดท้ายองค์กรก็จะไปไม่ถึงความสำเร็จในระยะไกลๆ ตามที่ต้องการนั่นเองครับ