การเกษียณอายุแบบยืดหยุ่น การใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ของพนักงานสูงอายุ

จะสังเกตได้ว่า ปัจจุบันนี้ พนักงานที่เกษียณอายุจากองค์กรต่าง ๆ แล้ว หลายคน ก็ยังคงทำงานต่อไป ซึ่งอาจจะเป็นงานส่วนตัว งานพาร์ทไทม์ หรือ อาจจะเป็นที่ปรึกษาเพื่อที่จะแชร์ประสบการณ์ และใช้ประสบการณ์ในการทำงานของตนเองในการสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่น เนื่องจากปัจจุบันนี้ คนอายุ 60 ยังมีพลังมากมายในการทำงาน อีกทั้งด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ รวมทั้งความตระหนักในการดูแลสุขภาพของตนเองของคนในยุคนี้มีมากขึ้นเรื่อย ๆ เลยทำให้คนที่มีอายุ 60 หลายคนที่ดูยังไม่เหมือนคน 60 ปี

และจากสาเหตุของการลดลงของประชากรเกิดใหม่ เลยทำให้แนวโน้มของคนทำงานจะเริ่มกลายเป็นสังคมสูงอายุมากขึ้น คนรุ่นใหม่เกิดน้อยลงไปเรื่อย ๆ แค่ในยุคปัจจุบันเอง ก็มีคนรุ่นใหม่ที่ออกมาสู่ตลาดแรงงานน้อยลงไปมาก หลายบริษัทก็เลยเริ่มหันมาใช้นโยบายการให้พนักงานที่เกษียณอายุได้โอกาสในการทำงานต่อ

จะเห็นว่าในบ้านเราเองก็มีหลายบริษัทที่รับสมัครพนักงานที่เกษียณอายุมาทำงานมากขึ้น โดยบริษัทเหล่านี้ ต่างก็พิสูจน์แล้วว่า พนักงานที่เกษียณอายุแล้วนั้น ยังมีไฟในการทำงานอยู่ และมีประสบการณ์ที่โชกโชน บางคนเป็นถึงผู้บริหารระดับสูงขององค์กร ยังมีไหวพริบปฏิภาณในการแก้ไขปัญหาได้อย่างดี และที่สำคัญก็คือ คนกลุ่มนี้มีความตั้งใจในการทำงานที่สูงมาก ๆ ให้ความใส่ใจกับงาน และรายละเอียดของงานมากกว่าเด็กจบใหม่เสียอีก ก็เลยเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับองค์กรที่ยังต้องการประสบการณ์ที่มีคุณค่าของคนกลุ่มนี้

 

แนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของการต่ออายุการทำงานหลังเกษียณ

ที่สหรัฐอเมริกา ปีนี้เป็นปีที่มีจำนวนชาวอเมริกันอายุ 65 ปีมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งแนวโน้มนี้คาดว่าจะดำเนินต่อไปจนถึงปี 2027 เรียกว่า “Peak 65” หลายคนที่เข้าสู่วัยนี้ยังไม่พร้อมที่จะเกษียณเต็มตัว ตามการศึกษาของ Allianz Life Insurance Co. of North America ในปี 2024 หลายคนมองว่าการเกษียณควรจะเป็นการเปลี่ยนผ่านอย่างช้าๆ แทนที่จะหยุดทำงานในทันที

นอกจากนั้น การศึกษาของ Pew Research Center ในปี 2023 พบว่ามีชาวอเมริกันที่ทำงานหลังอายุเกษียณเพิ่มจำนวนขึ้นเกือบสองเท่าในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ข้อมูลจากสำมะโนประชากรคาดการณ์ว่าจำนวนคนทำงานอายุ 75 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี 2030 สำหรับนายจ้าง การเก็บรักษาพนักงานสูงอายุเป็นเรื่องสำคัญในตลาดแรงงานที่ตึงตัว และหาคนทดแทนได้ยาก และการสำรวจของ Manpower พบว่า 75% ของนายจ้างทั่วโลกจำนวน 40,000 คน พบว่าการหาพนักงานรุ่นใหม่เข้ามาทำงานเป็นเรื่องยากมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ต้องประเมินกลยุทธ์และวางแผนกลยุทธ์ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลใหม่ ที่เน้นไปที่กลุ่มผู้เกษียณอายุมากขึ้น

 

ทำไมพนักงานที่เกษียณอายุจึงอยากทำงานต่อ

มีสาเหตุหลายประการที่ส่งเสริมให้พนักงานที่เกษียณอายุแล้วยังคงต้องการที่จะทำงานต่อไป

  • ปัจจัยในการดำรงชีวิต อย่างที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า ทุกวันนี้ความก้าวหน้าทางการแพทย์ และการดูแลสุขภาพที่ดีนั้น เป็นที่แพร่หลายมาก พนักงานที่ถึงวัยเกษียณหลายคนที่ดูจากภายนอกแล้ว ยังไม่ถึง 60 ด้วยซ้ำ หลายคนยังคงมีร่างกายที่แข็งแรงมาก มีจิตใจที่สมบูรณ์ ยังมีคนเคยบอกว่า ถ้าอายุขัยของคนเราสูงขึ้น เช่น เราจะอยู่ต่อไปจนอายุ 90 ปี ถ้านับจากวันที่เกษียณตอนอายุ 60 ปี อีก 30 ปี ที่ต้องมีชีวิตอยู่นั้น เราจะมีเงินเก็บพอหรือไม่ มีรายได้เข้ามาจุนเจืออย่างไร จะมีลูกหลานเลี้ยงดูเราจริงหรือ ฯลฯ ด้วยเหตุนี้เองก็เลยเป็นสาเหตุที่ทำให้พนักงานที่เกษียณอายุแล้ว ยังคงมีไฟ ในการทำงานต่อไปอีก ซึ่งอาจจะทำงานในองค์กรเดิม หรืออาจจะออกมาเปิดบริษัทเอง เพื่อที่จะใช้ความรู้และประสบการณ์ที่มีในการสร้างคุณค่าและผลงานต่อไป

  • ความรู้สึกว่าตนเองยังมีคุณค่า สาเหตุที่สองก็คือ พนักงานที่เกษียณอายุหลายคนที่ยังมีพลังในการทำงานต่อ พอถึงเวลาเกษียณ จะกลายเป็นว่า แต่ละวันไม่มีงานอะไรให้ทำ อยู่บ้านเฉย ๆ ทำอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปเรื่อย ไม่นานก็เริ่มรู้สึกเหี่ยวเฉา เนื่องจากขาดความรู้สึกว่าตนเองยังไม่คุณค่า พอจิตใจแย่ลง ร่างกายก็แย่ลงไปด้วย จะเห็นหลายกรณี ที่คนที่เกษียณอายุแล้วไม่มีอะไรทำ กลายเป็นคนที่แก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้เอง ที่ทำให้หลายคนเปลี่ยนวิธีคิดของตนเองว่า เกษียณอายุ ก็คือ แค่เลิกทำงานกับองค์กรแค่นั้น แต่เรายังมีคุณค่าที่จะสามารถสร้างผลงานต่อได้ ดังนั้น ก็เลยหางานทำต่อไป ด้วยการเป็นที่ปรึกษาบ้าง เป็นวิทยากรบ้าง หรือทำงานในเชิงที่เป็นการคิดวิเคราะห์ แก้ไขปัญหาต่าง ๆ บางคนก็ให้ความรู้โดยการเขียนบทความส่ง ทำ podcast เป็น youtuber หลังเกษียณก็มี

  • ต้องการสังคม บางคนเกษียณแล้วอยู่กับบ้านคนเดียว ก็รู้สึกไม่ดี ก็เลยต้องออกมาหาสังคม โดยการทำงานช่วยเหลือคนอื่น โดยไม่คิดเรื่องรายได้อะไรมากมาย แค่ขอให้ได้พบปะผู้คน ได้คุยกับคนอื่น ได้ช่วยเหลือคนอื่น ก็ทำให้รู้สึกถึงความหมายของการมีชีวิตอยู่ได้

 

 

การสร้างทางเลือกของการเกษียณอายุแบบยืดหยุ่น

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า พนักงานที่เกษียณอายุแล้ว ยังคงต้องการทำงานต่อไปด้วยเหตุผลต่าง ๆ ข้างต้น บริษัทหลายแห่งก็เริ่มเล็งเห็นในส่วนนี้มากขึ้น ก็มีการกำหนดนโยบายด้วยโปรแกรมการเกษียณอายุแบบยืดหยุ่น เช่น การเสนอให้ทำงานพาร์ทไทม์ โอกาสในการเป็นที่ปรึกษา และการจัดการงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น สำหรับพนักงานที่เกษียณอายุไปแล้ว

จากการสำรวจของ Harris Poll พบว่า 40% ขององค์กรในสหรัฐอเมริกา ที่มีโปรแกรมการเกษียณอายุแบบยืดหยุ่นและพนักงานที่เลือกใช้ตัวเลือกนี้เพิ่มขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมา

การนำแนวทางการเกษียณอายุแบบยืดหยุ่นมาใช้ในองค์กร

  • การวิเคราะห์และกำหนดนโยบาย ศึกษาความต้องการของพนักงาน: ทำการสำรวจความต้องการของพนักงานสูงอายุในองค์กร เพื่อเข้าใจถึงความต้องการทางการเงิน สุขภาพ และลักษณะการทำงานที่พวกเขาต้องการ กำหนดนโยบายอย่างชัดเจน: ออกแบบนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการทำงานพาร์ทไทม์ การให้คำปรึกษา การทำงานระยะสั้น หรือการทำงานจากที่บ้าน นโยบายเหล่านี้ควรจะได้รับการสื่อสารให้พนักงานทราบอย่างชัดเจน

  • การสร้างโปรแกรมการเกษียณอายุแบบยืดหยุ่น จัดการฝึกอบรมสำหรับผู้จัดการและพนักงานเกี่ยวกับโปรแกรมการเกษียณอายุแบบยืดหยุ่น เพื่อให้พวกเขาเข้าใจและสามารถปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ การตั้งทีมสนับสนุนภายในองค์กร เช่น ทีมทรัพยากรบุคคล และทีมที่ปรึกษาด้านการเกษียณอายุ เพื่อให้คำปรึกษาและช่วยเหลือพนักงานในเรื่องต่าง ๆ

  • ปรับปรุงสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ เช่น ปรับปรุงสวัสดิการสุขภาพ ให้การสนับสนุนทางด้านสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับพนักงานสูงอายุ เช่น ประกันสุขภาพที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้น สิทธิประโยชน์ทางการเงินในด้านต่าง ๆ เช่น จัดให้มีแผนการออมเพื่อการเกษียณที่ยืดหยุ่น และสิทธิประโยชน์ทางการเงินอื่น ๆ ที่สนับสนุนการทำงานของพนักงานสูงอายุ

  • การสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เอื้ออำนวย การสร้างสภาพแวดล้อมที่ยืดหยุ่นในการทำงาน สนับสนุนการทำงานที่ยืดหยุ่น เช่น การทำงานจากที่บ้าน การกำหนดเวลาทำงานที่ยืดหยุ่น หรือการทำงานพาร์ทไทม์ การให้โอกาสในการเรียนรู้และพัฒนา สร้างโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะสำหรับพนักงานสูงอายุ เพื่อให้พวกเขารู้สึกมีคุณค่าและสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง

 

ตัวอย่างจริงของการให้พนักงานที่เกษียณอายุแล้วสามารถทำงานต่อในองค์กร

  • การให้คำปรึกษาและโค้ชชิ่ง (Mentorship and Coaching)ให้พนักงานที่เกษียณอายุแล้วเป็นที่ปรึกษาและโค้ชให้กับพนักงานใหม่ หรือพนักงานที่ต้องการพัฒนาทักษะเฉพาะทาง บางองค์กรมีการทำโปรแกรม buddy ที่ให้พนักงานเกษียณทำงานร่วมกับพนักงานที่ยังทำงานอยู่ โดยเน้นไปที่การสอนแนะนำ และให้ประสบการณ์ในการทำงานเพื่อให้พนักงานคนนั้นสามารถทำงานได้ดีขึ้น

  • การถ่ายทอดความรู้ จัดทำโปรแกรมฝึกอบรมหรือเวิร์คช็อปเพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จากพนักงานที่เกษียณแล้วให้กับพนักงานใหม่ หลายองค์กรให้พนักงานที่เกษียณแล้ว เป็นวิทยากรภายในเพื่อบรรยายและให้ความรู้แก่พนักงานในเรื่องที่เขาเชี่ยวชาญ หรือมีการให้เป็นวิทยากรเพื่อบันทึกและจัดเก็บความรู้ในรูปแบบวีดีโอออนไลน์ เพื่อให้พนักงานสามารถเข้าถึงและเรียนรู้ได้ตลอดเวลา

  • การให้คำปรึกษาแบบไม่ประจำ พนักงานที่เกษียณอายุแล้ว หลายคนเป็นผู้บริหารระดับสูง ซึ่งมีประสบการณ์โชกโชนมากมาย ก็เลยให้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาให้กับทีมบริหารของบริษัทในการช่วยแชร์ประสบการณ์ และช่วยให้แนวทางในการตัดสินใจแก่ทีมผู้บริหารใหม่

  • ทำงานที่ตนเองชอบ บางองค์กร มีนโยบายที่จะรับสมัครพนักงานใหม่ที่เกษียณอายุแล้ว เข้ามาทำงาน โดยให้ผู้สมัครเลือกที่จะทำงานได้ตามความถนัดของตนเอง หรือ บางแห่ง ก็รับพนักงานเกษียณอายุเข้ามาทำงานในการให้บริการลูกค้า ซึ่งพิสูจน์แล้วว่า เขาสามารถทำงานได้ดี ใส่ใจลูกค้า ทำงานเต็มที่โดยไม่สนใจในเรื่องของค่าตอบแทนมากมาย

 

โดยสรุปแล้ว เมื่อแรงงานเข้าสู่วัยเกษียณมากขึ้น โปรแกรมการเกษียณอายุแบบยืดหยุ่นและนโยบายที่หลากหลายด้านอายุจึงมีความสำคัญมากขึ้น กลยุทธ์เหล่านี้ไม่เพียงแต่รักษาพนักงานที่มีคุณค่า แต่ยังเพิ่มผลผลิตและความรู้ขององค์กร การใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ของพนักงานสูงอายุจะช่วยให้บริษัทต่าง ๆ สามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืนไม่ขาดช่วง ขอเพียงอย่าไปดูถูกกลุ่มคนที่เกษียณอายุว่าเป็นคนแก่ ไม่ทันสมัย ตามโลกไม่ทัน เพราะปัจจุบันนี้ คนแก่ ๆ หลายคนก้าวทันโลกได้มากกว่าเด็กรุ่นใหม่เสียอีก

You may also like

การเกษียณอายุแบบยืดหยุ่น การใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ของพนักงานสูงอายุ

Executive Summary และผลการสำรวจสวัสดิการ ประจำปี 2567

ระบบค่าตอบแทนตามผลงานขององค์กร (Pay for Performance) ตอบแทนผลงานพนักงานจริง ๆ หรือ

มุมมอง และพฤติกรรมที่ยังต้องพัฒนาของผู้จัดการ ในเรื่องผลงานกับการให้รางวัล