ค่าตอบแทนสูงไม่ใช่สิ่งที่รับประกันว่าเราจะเก็บรักษาพนักงานไว้ได้
ได้มีโอกาสคุยกับผู้บริหารระดับเจ้าของธุรกิจแห่งหนึ่ง ซึ่งมีความกลุ้มใจมากกว่า ทำไมคนเก่งๆ ที่เขาหามาทำงาน ถึงอยู่ไม่ทน เข้ามาทำงาน สอนงานให้ พอทำงานเป็นแล้ว ก็ลาออกกันไปเป็นแถว แล้วมันก็วนเวียนกันไปแบบนี้ ทั้งๆ ที่ผู้บริหารบอกว่า บริษัทจ่ายค่าตอบแทนที่สูงกว่าตลาดมาก แต่ทำไมถึงยังไม่สามารถเก็บรักษาพนักงานมือดีๆ ไว้ได้
ท่านผู้อ่านคิดอย่างไรครับ
องค์กรนี้ เวลาที่พนักงานจะลาออก ผู้บริหารก็จะใช้เครื่องมือเดียวในการดึงให้อยู่ ก็คือ ปรับเงินเดือนให้สูงขึ้น เพื่อไม่ให้พนักงานไปไหน และก็คิดว่า การปรับเงินเดือนให้สูงขึ้นแล้ว ก็น่าจะทำให้เขาอยากอยู่ทำงานกับเราต่อไปได้อีกนาน
พอเอาเข้าจริงๆ ก็เริ่มมีพนักงานที่ไม่ได้อยากจะลาออกอะไร แต่มาบอกนายว่าจะออกนะ เพื่อที่นายจะได้ปรับเงินให้ แล้วนายก็ทำแบบนั้นจริงๆ สุดท้าย คนที่นี่ไม่ได้ทำงาน แต่หาทางมาบอกนายว่าจะออก เพื่อที่จะได้เงินขึ้น ซึ่งเงินที่ขึ้นนี้ก็ให้สูงกว่าคนที่ทำผลงานดีด้วยซ้ำไป
แถมการปรับให้พิเศษนี้ ก็ปรับตามแต่ที่พนักงานขอมาอีก มันก็เลยยิ่งมั่วกันไปใหญ่
ด้วยวิธีการแบบนี้ แม้ว่าเงินเดือนค่าตอบแทนจะสูงกว่าตลาดก็จริง แต่สุดท้ายมันไม่ได้สร้างความรู้สึกเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในความรู้สึกของพนักงาน
พนักงานคนไหนที่ทำงานดีมาก แต่ไม่ได้บอกว่าจะลาออก ก็ไม่ได้เงินขึ้นมากเท่ากับคนที่บอกว่าจะลาออกแต่ไม่ได้ทำงานอะไรดีมากมาย แบบนี้ก็ไม่เป็นธรรมแล้ว
ในทางปฏิบัติ ตัวค่าตอบแทนที่เราทำให้เป็นธรรมตามคุณค่าของงาน เป็นธรรมตามผลงานของพนักงาน และเป็นธรรมตามราคาตลาดที่เราแข่งขันด้วย จุดนี้ก็พอที่จะดึงดูด และเก็บรักษาพนักงานได้ โดยที่ไม่จำเป็นที่จะต้องจ่ายแบบสูงลิบลับแต่อย่างใด
ในทางตรงกันข้ามหลายบริษัทที่เน้นการจ่ายให้สูงๆ เข้าไว้ แต่บรรยากาศภายในบริษัท ทำงานกันแบบไม่มีความไว้วางใจกัน ไม่เชื่อใจกัน มุ่งร้ายต่อกัน ขัดแข้งขัดขากันตลอดเวลาทำงาน ผู้จัดการไม่ใช่ผู้จัดการที่ดี เล่นพรรคเล่นพวก อวยพวกเดียวกัน ฯลฯ ถ้าเป็นแบบนี้ แม้ว่าจะจ่ายค่าตอบแทนสูงแค่ไหน พนักงานก็ไม่อยากอยู่ทำงานด้วยแน่นนอนครับ
ยิ่งในยุคปัจจุบันที่ธุรกิจเริ่มเปลี่ยนไปในแนว Knowledge worker กันมากขึ้น การทำงานไม่ได้ผูกเงินอย่างเดียวอีกต่อไปเหมือนในสมัยการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่ยิ่งทำงานปริมาณมากๆ ก็ยิ่งได้ค่าจ้างมากขึ้น ซึ่งเดี๋ยวนี้งานแรงงานทั้งหมด ก็กลายเป็นหุ่นยนต์กันไปหมด ส่วนคนที่ทำงาน ก็เริ่มที่จะต้องใช้ความคิดในการแก้ไขปัญหา ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ หาแนวทางใหม่ๆ ในการทำงาน ซึ่งตัวค่าตอบแทนก็ต้องไปมุ่งในจุดนี้ด้วยเช่นกัน
มันก็เลยทำให้แนวคิดค่าตอบแทนแบบเดิม เริ่มที่จะใช้ไม่ค่อยได้ พนักงานเริ่มมีข้อโต้แย้งว่า เงินเดือนสำคัญก็จริง แต่ความรู้สึกมีความสุขในการทำงาน มันก็สำคัญไม่แพ้กัน
นั่นก็แปลว่า เราคงจะเน้นการจ่ายค่าตอบแทนสูงๆ โดยไม่สนใจเรื่องราวอื่นๆ ของพนักงานไม่ได้อีกต่อไปแล้ว